กรุณารอสักครู่...

บทความวิชาการ

ข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ การเจริญเติบโต และปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก และวัยรุ่นไทยในวัยต่างๆ

โอ้ละพ่อ...แค่ “เลียนแบบ” จริงๆหรือ?

โอ้ละพ่อ...แค่ “เลียนแบบ” จริงๆหรือ?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ทุกคนคงจะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวของกลุ่มเด็กหญิงป.1 เด็กชาย ป.3 และ ป.5 ที่ออกมาทางหน้าสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ และมีการวิพากษณ์ วิจารณ์ไปต่างต่างนานา แต่บทสรุปสุดท้าย เรื่องก็คลี่คลายลงด้วยว่า เป็นความเข้าใจผิดของผู้ปกครอง เพราะพฤติกรรมดังกล่าวเป็น”เพียง” การเลียนแบบคลิปในโลกอินเตอร์เนตเท่านั้น... และบอกว่า พฤติกรรมที่ส่อไปในทางเพศดังกล่าว ไม่ได้รุนแรงตามที่ถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อไปในตอนแรก

ในความเห็นของกุมารแพทย์ และแม่คนนึง ก็คงเห็นไม่ต่างอะไรกับคนส่วนใหญ่ ว่าสังคมไทยมาถึงจุดนี้ไปได้อย่างไร แต่...จุดนี้ของหมอ หมายถึง การที่มีคนมองว่า พฤติกรรมดังกล่าว เป็น”เพียง”การเล่นของเด็ก “เลียนแบบ” คลิปในสื่อ “เท่านั้น” จริงๆแล้ว บทสรุปของเรื่อง ทำให้เรื่องราวดูเหมือนจะเบาบางความรุนแรงลงไป แต่ในความเป็นจริง...มันไม่ใช่เลย



ทำไมหมอถึงคิดเช่นนั้น?

ประเด็นที่ 1 ก็คือว่า จากข่าวนี้ ทำให้เราเรียนรู้ว่า เด็กๆสามารถเสพสื่อ และเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆมาด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีคนเคยเปรียบว่า สมองของเด็กๆนั้นมีความสามารถพิเศษเหมือนฟองน้ำ ที่สามารถซึมซับได้ทุกเรื่องราวที่เค้าเห็น และสามารถเลียนแบบได้ ยิ่งเรื่องไหนที่เห็นบ่อยๆ เส้นใยสมองจะสานต่อกันได้ดี และเรื่องไหนที่ไม่ค่อยเห็น เส้นใยสมองเหล่านั้นก็จะหายไปเพราะไม่ได้ใช้งาน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยค่ะว่า จากสถิติทางการแพทย์ในช่วงหลัง ถึงพบเห็นพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง พฤติกรรมเสี่ยง พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย และพฤติกรรมทางเพศในเด็กที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆมากขึ้น ซึ่งถ้าเราปล่อยสถานการณ์ให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆคงไม่ดีแน่ เด็กๆที่เห็นความรุนแรงในจอบ่อยๆ จนเป็นความเคยชิน และซึมซับมาใช้กับชีวิตจริงได้อย่างไม่สงสัย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในฐานะไหนของสังคม คงต้องมองเห็นถึงผลกระทบนี้ และช่วยกันรับผิดชอบในการหยิบยื่นสื่อในมือให้แก่เด็กๆเพื่อสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต



โดยปกติในฐานะกุมารแพทย์ เราก็มักจะแนะนำว่า เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้สื่อต่างๆเลย และเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ใช้สื่อได้แต่ไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมงต่อวัน และภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง แต่ในฐานะคุณแม่แล้ว หมอจะบอกเลยว่า ไม่แปลกใจเลยที่ทำไม สื่ออิเลคโทรนิคส์ถึงเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงลูกอันดับต้นๆของคุณพ่อคุณแม่ยุคปัจจุบัน เพราะสามารถสะกดจิต ให้เด็กๆนิ่งได้ดีนักแล

เพราะในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีปู่ย่าตายายคอยช่วยกันเล่นช่วยกันเลี้ยง lifestyle ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีกันเป็นปกติเหมือนปัจจัยที่ 5 สามารถทำงานหลายๆอย่างพร้อมกันในช่วงเวลาที่มีจำกัด ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถสื่อสารกันโดยไม่ต้องพูดกันก็ได้ ทุกคนในทุกๆวัยสามารถสนุกกับโลกของตัวเองได้นานเป็นชั่วโมงๆ ผ่านหน้าจอเล็กๆเพียงหน้าจอเดียว จากปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ “สื่อผ่านจอ” จึงเป็นพี่เลี้ยงเด็กในยุคไอทีไปโดยปริยาย

จริงๆมีผลงานวิจัยทางการแพทย์โดยเฉพาะในวงการประสาทพัฒนาการเด็กที่ศึกษาถึงผลกระทบของสื่อที่มีต่อการพัฒนาของสมองและพฤติกรรมเด็ก เอาไว้ถ้ามีโอกาสหมอจะขอเล่าให้ฟังอีกทีนะคะ แต่เราก็คงไม่ได้โทษสื่อว่ามันไม่ดีทั้งหมด และในเมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมอก็เป็นคนนึงที่เห็นว่า “เราสามารถใช้สื่อร่วมกับเด็กให้เป็นประโยชน์ได้ ถ้าเราใช้ให้ถูกทาง”

ใช้สื่อยังไงให้ถูกทาง?

หมอขอยกเอาภาพสรุปของ คุณหมอเทอดพงศ์ ที่เคยเขียนไปแล้วในหน้าเวปเพจอันเดิมมาเล่าใหม่นะคะ 2 ว (วัยและเวลา) 2 น (เนื้อหาและแนะนำ)



ประเด็นที่ 2 ที่อยากพูดถึงก็คือ การสอนเรื่องเพศให้แก่เด็ก สอนให้เด็กๆรู้ว่าส่วนไหนของร่างกายที่เป็นของส่วนตัวและไม่ควรเปิดให้ใครดู แม้จะเป็นการเล่นกันก็ตาม หมอเคยมีประสบการณ์จากพ่อแม่หลายๆคนที่ไม่รู้ว่า ต้องสอนเรื่องนี้ให้เด็กๆรู้ คิดว่าเดี๋ยวที่โรงเรียนก็สอน คิดว่าเด็กยังเล็กไป พูดไปก็คงไม่เข้าใจ เป็นเรื่องลับๆที่เค้าไม่เอามาพูดกัน หรือบางคนอยากจะสอนแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง อายที่จะคุยกับลูก หมอขอให้ความเห็นนะคะว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองทุกคนสามารถสอนลูกได้ตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะเข้าโรงเรียนอนุบาลเสียอีก เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ และไม่ต่างอะไรกับการสอนทักษะเรื่องอื่นๆให้แก่ลูกค่ะ เริ่มต้นจากการสอนให้เค้ารู้จักอวัยวะเพศ เหมือนๆกับตอนที่สอนให้เค้ารู้จักอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย สอนให้รู้จักความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง และตามมาด้วยให้เค้ารู้ว่า อวัยวะส่วนไหนเป็นของส่วนตัวที่ห้ามใครๆจับ หรือเราจะไม่โชว์มันออกมาในที่สาธารณะ ถ้าจะสอนง่ายๆ ส่วนใหญ่หมอจะบอกว่า “อวัยวะส่วนไหนที่อยู่ใต้ชุดว่ายน้ำ ส่วนนั้นหล่ะคือพื้นที่ส่วนตัวของเรา”



เมื่อเค้าโตขึ้นมาอีกนิด พอเข้าโรงเรียน ต้องสอนให้เค้ารู้ว่า เรามีสิทธิ “ปฎิเสธ” ได้หากใครจะมาขอจับส่วนนั้นของเรา และสอนเด็กให้”กล้าบอก และไม่เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ” กับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจหากโดนใครมาล่วงเกินส่วนนั้น พอเข้าวัยเรียนและวัยรุ่น เด็กๆจะเริ่มเรียนเกี่ยวกับเพศศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น รู้เกี่ยวกับหน้าที่ของระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ ก็เป็นอีกสเตปที่เราจะต้องสอนเค้าเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ยังไม่พร้อม หรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยต้องทำอย่างไร การวางตัวและปฎิบัติตัวต่อเพศตรงข้ามอย่างเหมาะสม เป็นต้น

ในความเห็นหมอจึงคิดว่า “เพศศึกษา” เริ่มต้นที่บ้านนะคะ ไม่ใช่ในชั่วโมงสุขศึกษาที่โรงเรียน และโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิเศษ เรื่องนี้ยิ่งสำคัญเป็นพิเศษเช่นกันเพราะเด็กๆกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะถูกล่วงละเมิดสิทธินี้ได้ง่ายกว่าเด็กอื่นๆ



ประเด็นสุดท้ายที่ได้เรียนรู้จากข่าวนี้ก็คือ เด็ก ผู้ที่สวมบทบาทเป็นผู้กระทำ กลับเป็นเหยื่อของสังคมเพราะความไร้เดียงสา กว่าที่เรื่องราวจะเผยตอนจบออกมา เด็กที่เป็นจำเลยสังคมก็คงบอบช้ำไปไม่น้อย และคงเป็นภาพที่เลวร้ายในใจของเค้าเช่นกันเพราะถูกสังคมมองเป็นผู้ร้าย ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม จริงอยู่ที่โลกปัจจุบันมีอิสระเสรีมากในการแสดงความเห็น แต่การเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณก่อนที่จะตัดสินใคร โดยเฉพาะเด็ก ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่กรณีนี้เป็นกรณีแรก แต่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวออกมาบ่อยๆถึง ความรุนแรงในการใช้สื่อ หรือการถูกรังแกทางสื่อ (social bullying) ซึ่งผลกระทบไม่ได้ต่างไปจากการถูกแกล้งในโรงเรียน และอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ แต่แล้วสุดท้ายก็กลายเป็น “เหยื่อ”โดยไม่ได้ตั้งใจของใครหลายคน

โดยสรุปบทเรียนจากเรื่องราวที่เล่ามานี้ ก็เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นว่า มันไม่ใช่ “แค่” การเล่นของเด็กเท่านั้น เพราะมันมีภัยเงียบที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ที่เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่พวกเราทุกคนควรต้องช่วยกันดูแลเพื่อสังคมที่น่าอยู่ของเด็กๆและพวกเราทุกคนต่อไป

ขอบคุณพื้นที่เล็กๆ ของชมรมพัฒนาการเด็ก ที่ให้โอกาสแบ่งปันความเห็นนะคะ

ขอบคุณรูปภาพจาก
- https://blog.cognifit.com/mirror-neurons/
- www.safetyclub.org
จากคุณหมอตัวแทนเด็กๆ ที่เชื่อว่า โลกของเด็กอยู่ใกล้กับโลกของผู้ใหญ่เพียงนิดเดียวค่ะ

Download PDF File คลิกที่นี่