กรุณารอสักครู่...

บทความวิชาการ

ข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ การเจริญเติบโต และปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก และวัยรุ่นไทยในวัยต่างๆ

การสแกนลายนิ้วมือเพื่อค้นหาศักยภาพในตัวเด็ก

  • รศ.พญ.จริยา จุฑาภิสิทธิ์
    อ.พญ.พร ไตรรัตน์วรกุล


    วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08:00 น.

การสแกนลายนิ้วมือเพื่อค้นหาศักยภาพในตัวเด็ก

การสแกนลายนิ้วมือเพื่อค้นหาศักยภาพในตัวเด็กได้ถูกนำมาใช้และเป็นที่นิยมในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อหวังว่าจะค้นหาศักยภาพที่เป็นจุดเด่น หรือพรสวรรค์ในตัวเด็ก รวมถึงค้นหาจุดด้อยเพื่อหวังที่จะวางแผนพัฒนาและปกปิดจุดด้อยนั้น ในระยะยาวยังคาดหวังว่าจะนำข้อมูลที่ได้จากการสแกนลายนิ้วมือไปวางแผนต่อยอดการศึกษา เลือกอาชีพให้กับเด็ก หรือแม้แต่เพื่อการรับเข้าทำงานของบางหน่วยงานในอนาคต ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า การสแกนลายนิ้วมือจะสามารถทำนายสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องแม่นยำ นอกจากนี้ ยังไม่มีงานวิจัยในระยะยาวที่สรุปได้ว่าการเลี้ยงดูไปในแนวทางที่ได้รับข้อมูลจากการสแกนลายนิ้วมือส่งผลอย่างไรต่อตัวเด็ก รวมถึงเด็กประสบความสำเร็จดังที่คาดหวังหรือไม่ นอกจากนี้ยังไม่มีการศึกษาถึงการทำนายที่ผิดพลาดโดยที่พ่อแม่อาจไม่ทราบ ที่อาจเป็นหนทางที่นำไปสู่การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมหรือผิดพลาด ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กในระยะยาว



ในทางกลับกัน การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้ประสบความสำเร็จตามศักยภาพที่มีอยู่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย นอกเหนือจากปัจจัยทางพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดความฉลาดทางสติปัญญาของเด็กแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เป็นที่ยอมรับว่าจะสามารถพัฒนาและเพิ่มความฉลาดทางสติปัญญาให้เต็มศักยภาพของเด็กได้ ซึ่งได้แก่ ปัจจัยการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เอื้ออำนวยต่อการกระตุ้นพัฒนาการ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ การให้การเลี้ยงดูแบบใกล้ชิด การสังเกตและเข้าใจในตัวเด็กต่างหาก ที่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในที่จะนำมาสู่การเห็นและส่งเสริมศักยภาพที่แท้จริงในตัวเด็ก พ่อแม่ที่ให้ความใกล้ชิดกับเด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัย จะสามารถมองเห็นจุดเด่นและจุดด้อยในตัวเด็ก เด็กหลายคนอาจไม่ได้มีจุดเด่นที่ชัดเจน เช่น พ่อแม่บางคนบอกว่าลูกไม่มีทักษะทางดนตรีเลย ลูกไม่เก่งกีฬาชนิดใดเลย หรือลูกไม่ชอบงานศิลปะหรือทำได้ไม่ดี เป็นต้น แต่ในทางกลับกันมีทักษะบางอย่างที่อาจถูกละเลย เช่น การเป็นเด็กที่มีความมุมานะบากบั่น เป็นเด็กที่มีความพยายาม มีความแข็งแกร่ง อดทน เป็นเด็กที่มีความขยันใฝ่รู้ มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่พ่อแม่ต้องใช้ความใกล้ชิดและละเอียดอ่อนในการสังเกต ถึงจะทราบว่าลูกมีคุณสมบัติเหล่านี้ และคุณสมบัติเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่ถ้าได้รับการพัฒนาต่อยอด จะเป็นทักษะที่สามารถนำไปพัฒนาเรื่องต่างๆในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา หรือการประกอบอาชีพ



นอกจากนี้ การให้การส่งเสริมเด็กตามข้อมูลที่ได้จากการสแกนลายนิ้วมือ ไม่ได้บ่งบอกว่าเด็กทุกคนจะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง หลายครั้งการที่เด็กจะทำอะไรได้ดีส่วนหนึ่งต้องมาจากการที่เด็กมีความสุข และสนุกที่จะทำ มีแรงจูงใจในตัวเองในการริเริ่มที่จะทำ ไม่ได้มาจากการที่ถูกชักจูงหรือถูกบังคับให้ทำ สิ่งที่ได้จากการสแกนลายนิ้วมืออาจเป็นสิ่งที่เด็กอาจไม่ได้รักและชอบที่จะทำ แต่ถูกส่งเสริมให้ทำตั้งแต่อายุยังน้อย ถึงแม้จะทำได้ดี แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าจะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีในอนาคต ในทางกลับกัน ข้อมูลที่ได้จากการทำนายอาจเป็นการปิดกั้นโอกาสในการส่งเสริมความสามารถอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวอ้างถึงจากการสแกนลายนิ้วมือ



โดยสรุป การพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพที่เด็กมีขึ้นกับหลายๆปัจจัยร่วมกัน การใช้สิ่งๆเดียวมากำหนดหรือทำนายอนาคตของเด็กย่อมเป็นสิ่งที่อาจส่งผลเสียต่อตัวเด็กมากกว่าผลดี ในปัจจุบันยังคงต้องการข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าการสแกนลายนิ้วมือจะส่งผลไปในทิศทางใดต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยในระยะยาว เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการส่งเสริมด้านการศึกษาอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกกำหนดศักยภาพจากลายนิ้วมือ

เอกสารอ้างอิง
1. Jain AK, Arora SS, Cao K, Best-Rowden L, Bhatnagar A. Finger Recognition of young children. Technical Report. Michigan State University. 2016; 1-13.
2. Marschik PB, Pokorny FB, Peharz R, et al. A Novel way to measure and predict development: A heuristic approach to facilitate the early detection of neurodevelopmental disorders. Curr Neurol Neurosci Rep. 2017;17(5):43.
3. Lawlor DA, Batty GD, Morton S, et al. Early life predictors of childhood intelligence: evidence from the Aberdeen children of the 1950s study. J Epidemiol Community Health. 2015;59(8):656-63.

Download PDF File คลิกที่นี่