กรุณารอสักครู่...

บทความวิชาการ

ข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ การเจริญเติบโต และปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก และวัยรุ่นไทยในวัยต่างๆ

ภัยเงียบจาก “โทรศัพท์มือถือ”

  • นพ.ประกาศิต วรรณภาสชัยยง
    แพทย์ประจำบ้านต่อยอดชั้นปีที่ 2 สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช


    วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2564 เวลา 18:00 น.

ภัยเงียบจาก “โทรศัพท์มือถือ”

ปัจจุบัน “โทรศัพท์มือถือ” เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นผ่านการพูดคุย การส่งข้อความ วีดีโอคอล การใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์ (social media) การทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ หรือใช้เป็นอุปกรณ์เสพสื่อบันเทิงออนไลน์ เป็นต้น นอกจากใช้งานได้หลากหลายหน้าที่แล้ว ยังเข้าถึงได้ง่ายและมีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้น จากข้อมูลเชิงสถิติ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2563 ทาง Digital Thailand ได้รายงานข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ และการใช้อินเตอร์เน็ต พบว่า คนไทยมียอดเบอร์โทรศัพท์ติดต่อจำนวนทั้งสิ้น 93.39 ล้านเบอร์ (เมื่อเทียบกับประชากรทั่วประเทศ 69.71 ล้านคน) และมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงถึง 52 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 จำนวน 1 ล้านคน หรือขึ้นมา 2%) [1] ถึงแม้จะไม่มีข้อมูลรายงานที่ชัดเจน เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตในกลุ่มประชากรเด็ก แต่จากสถิติที่รายงานข้างต้น ทำให้นักวิชาการคาดการณ์ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตของผู้ใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น น่าจะส่งผลถึงกลุ่มประชากรเด็ก ทำให้มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นได้ ในแง่ของหลักการทำงาน โทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ส่งถ่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล ผ่านตัวกลางเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic wave) ซึ่งเชื่อมต่อกับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ โดยที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีความสามารถเคลื่อนที่และส่งผ่านได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง สามารถทะลุเข้าไปในร่างกายของสิ่งมีชีวิต และก่อให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ได้[2]

จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่าหากนำหนูเพศเมียที่ตั้งครรภ์ มาสัมผัสกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ 900MHz (Radiofrequency-Electromagnetic wave) ในระยะเวลาหนึ่ง ลูกหนูที่คลอดออกมาจะมีการลดลงของ granule cells และ pyramidal neurons ในสมองอย่างมีนัยสำคัญ[3] ในอีกการศึกษาหนึ่ง พบว่าลูกหนูที่สัมผัสกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Radiofrequency ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จะมีอาการ Hyperactive และมี memory impairment หลังเกิดได้[4] ซึ่งอาจมีหลายทฤษฏีที่ถูกนำมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ Permeability ของ blood-brain barrier ส่งผลทำให้มีการทำลายเซลล์ประสาทในสมองของหนูที่ได้รับการสัมผัส หรืออาจทำให้เกิด Oxidative stress ในสมองหนูที่สัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหล่านี้ได้ [5-7] นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีทฤษฏีที่อ้างถึงระดับ Epigenetic ร่วมด้วย กล่าวคือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Deoxyribonucleic acid methylation, Histone modification, Chromatin remodeling และ microribonucleic acid เป็นต้น[8]



สำหรับการศึกษาในมนุษย์ INTERPHONE study ในปี ค.ศ. 2010 ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสมองในผู้ใหญ่ กับการใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่าโดยรวมไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่อย่างไรก็ตามหากมีการใช้โทรศัพท์มือถือสะสมรวมกันมากกว่า 1640 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงต่อเกิด Glioma 1.4 เท่า และการเกิด Meningioma 1.15 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือสะสมน้อยกว่า 1640 ชั่วโมง และนอกจากนี้ ยังพบอีกว่า Glioma ที่เกิดขึ้นนั้น มักพบที่บริเวณ temporal lobe ของสมองด้านที่มีการใช้โทรศัพท์เป็นประจำ[9] ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 2013 ทาง International Agency for Research on Cancer (IARC) จึงได้มีการจัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือในระดับ Radiofrequency เป็นกลุ่มปัจจัยเสี่ยงที่น่าจะทำให้เกิดมะเร็งในคนได้ (possibly carcinogenic to humans, Group 2B) [10] นอกจากความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งแล้ว มีการศึกษาในประชากรประเทศฝรั่งเศสในปีค.ศ. 2002 พบว่าประชากรที่อยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในรัศมีน้อยกว่า 300 เมตร มักจะมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ความจำเสื่อม นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ฉุนเฉียวง่าย ซึมเศร้า ลืมง่าย และมีปัญหาในการมองเห็นด้วย[11]\



สำหรับข้อมูลในเด็ก ปี 2000 UK Independent Expert Group on Mobile Phones ได้ออกมาระบุว่า ผลกระทบของการสัมผัสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในเด็กมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถอธิบายจากศีรษะของเด็กที่เล็ก มีกะโหลกศีรษะบาง และในช่วงสมองที่กำลังพัฒนาในเด็ก มีความสามารถในการนำไฟฟ้าได้มากกว่า มีความชื้นที่สูงกว่า และมี ionic content ที่มากกว่า ดังนั้นศีรษะของเด็กจึงดูดซับพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระดับ Radiofrequency ได้มากกว่า[12]

ถึงแม้ว่าการศึกษาในเด็กที่สัมผัสกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระดับ Radiofrequency ที่มากกว่า จะไม่ได้ส่งผลกับคะแนนจากการประเมิน cognitive function โดยรวม แต่พบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมี verbal score ที่ต่ำกว่า และมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ได้มากกว่า[13]

ถึงแม้ว่า WHO จะยังไม่ได้รับรองผลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระดับ Radiofrequency จากโทรศัพท์มือถือที่มีผลต่อเด็ก แต่ควรต้องมีนโยบายป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principles) เพราะอาจเกิดอันตรายได้เมื่ออธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ไม่มีหลักฐานที่แน่นอนก็ตาม ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวเข้าสู่ยุค 5G ที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระดับ Radiofrequency 2 ช่วงความถี่ คือ 3.5 GHz และ 28 GHz เมื่อเทียบกับยุค 4G ที่มีการใช้คลื่นความถี่เฉพาะในช่วง 3.5 GHz ดังนั้นทำให้ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบที่เกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 28 GHz ของ 5G ส่งผลให้เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามต่อไป[14] ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำสำหรับการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อที่จะลดความเสี่ยงต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น ดังนี้ [15]
1. ไม่ควรคุยโทรศัพท์มือถือนานในบริเวณที่มีสัญญาณต่ำ เช่น ในรถไฟฟ้า รถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากคลื่นจะสะท้อนเข้าสู่ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น
2. ควรยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแนบหูภายหลังต้นสายรับแล้ว เพื่อลดการรับคลื่นสัญญาณให้น้อยลง เนื่องจากการใช้โทรศัพท์มือถือแนบหูนั้น โทรศัพท์มือถือจะมีกำลังส่งสูงกว่าเสาสัญญาณที่อยู่ด้านบน
3. หากต้องพกพาโทรศัพท์มือถือ ควรใส่ซองหรือใส่กระเป๋าเพื่อลดการแพร่ของคลื่นสู่ร่างกาย
4. ควรวางโทรศัพท์มือถือที่เปิดสัญญาณคลื่นมือถือและสัญญาณไวไฟ ให้ห่างจากตัวหรือศีรษะประมาณ 1 เมตร หรือในระยะที่มือเอื้อมถึง
5. หากต้องการเปิดเครื่องเพื่อตั้งนาฬิกาปลุกขณะนอนหลับ ควรตั้งเป็นโหมดเครื่องบิด (Airplane Mode) เพราะจะทำให้ปลอดจากคลื่นสัญญาณที่แผ่จากโทรศัพท์
6. หลีกเลี่ยงการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะผ่านกะโหลกศีรษะของเด็กเข้าสู่สมองได้มากกว่าผู้ใหญ่
7. ไม่ควรนำโทรศัพท์มือถือไปวางไว้ใกล้ทารก เพราะกะโหลกศีรษะของทารกบางมาก ควรวางให้ห่างอย่างน้อย 20 เซนติเมตร หากผู้เลี้ยงดูมีความจำเป็นต้องใช้งาน ให้เดินออกไปใช้งานให้ห่างจากทารก

เอกสารอ้างอิง
1. Datareportal.com [homepage on the Internet]. Digital 2020 : Thailand [cited 2020 Nov 27]. Available from : http://datareportal.com/reports/digital-2020-thailand/
2. Moon, J.H., Health effects of electromagnetic fields on children. Clin Exp Pediatr, 2020. 63(11): p. 422-428.
3. Odaci, E., O. Bas, and S. Kaplan, Effects of prenatal exposure to a 900 MHz electromagnetic field on the dentate gyrus of rats: a stereological and histopathological study. Brain Research, 2008. 1238: p. 224-229.
4. Aldad, T.S., et al., Fetal Radiofrequency Radiation Exposure From 800-1900 Mhz-Rated Cellular Telephones Affects Neurodevelopment and Behavior in Mice. Scientific Reports, 2012. 2.
5. Salford, L.G., et al., Nerve cell damage in mammalian brain after exposure to microwaves from GSM mobile phones. Environmental Health Perspectives, 2003. 111(7): p. 881-883.
6. Schirmacher, A., et al., Electromagnetic fields (1.8 GHz) increase the permeability to sucrose of the blood-brain barrier in vitro. Bioelectromagnetics, 2000. 21(5): p. 338-345.
7. Nittby, H., et al., Response to Comments on Cognitive Impairment in Rats After Long-Term Exposure to GSM-900 Mobile Phone Radiation by Nittby et al. (Bioelectromagnetics 29:219-232, 2008). Bioelectromagnetics, 2009. 30(6): p. 509-509.
8. Kaplan, S., et al., Electromagnetic field and brain development. Journal of Chemical Neuroanatomy, 2016. 75: p. 52-61.
9. Cardis, E., et al., Brain tumour risk in relation to mobile telephone use: results of the INTERPHONE international case-control study. International Journal of Epidemiology, 2010. 39(3): p. 675-694.
10. Humans, I.W.G.o.t.E.o.C.R.t., Non-ionizing radiation, Part 2: Radiofrequency electromagnetic fields. IARC Monogr Eval Carcinog Risks Hum, 2013. 102(Pt 2): p. 1-460.
11. Santini, R., et al., Symptoms experienced by people in vicinity of basestation: incidences of distance and sex (vol 50, pg 372, 2002). Pathologie Biologie, 2002. 50(10): p. 621-621.
12. Martens, L., Electromagnetic safety of children using wireless phones: A literature review. Bioelectromagnetics, 2005: p. S133-S137.
13. Calvente, I., et al., Does exposure to environmental radiofrequency electromagnetic fields cause cognitive and behavioral effects in 10-year-old boys? Bioelectromagnetics, 2016. 37(1): p. 25-36.
14. Koh, T.H., et al., Factors Affecting Risk Perception of Electromagnetic Waves From 5G Network Base Stations. Bioelectromagnetics, 2020. 41(7): p. 491-499.
15. โสภณา จิรวงศ์นุสรณ์, ณัฐวดี จิตรมานะศักดิ์, สาริน ฤทธิสาธร, พวงผกา ภูยาดาว. อันตรายที่แฝงมากับโทรศัพท์มือถือ. วารสารววิจัยราชภัฏพระนคร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2018,13(1):164-177

Download PDF File คลิกที่นี่