กรุณารอสักครู่...

บทความวิชาการ

ข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ การเจริญเติบโต และปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก และวัยรุ่นไทยในวัยต่างๆ

การรักษาโรคซน สมาธิสั้น

การรักษาโรคซน สมาธิสั้น แพทย์หญิงวรวรรณ งามรุ่งนิรันดร์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลมะการักษ์ จ.กาญจนบุรี บทความนี้นำเสนอโดยคณะผู้นิพนธ์จากประเทศอินเดีย กล่าวถึงโรคซน สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) และรวบรวมแนวทางการรักษาต่างๆเท่าที่มีในปัจจุบัน โดยกล่าวว่า โรคซนสมาธิสั้น เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกและพบได้บ่อย พบในเด็กวัยเรียนประมาณร้อยละ 3-7 และ ร้อยละ1-4 ในวัยผู้ใหญ่ มีอาการแสดงเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก คือ มีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง (motor hyperactivity) ที่มีความรุนแรงไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ การขาดสมาธิ ( inattention ) และมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น (impulsiveness ) มีการแสดงออกของความบกพร่องดังกล่าวมากกว่า 1 สถานที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งที่บ้าน โรงเรียน และชีวิตในสังคมที่เด็กดำรงอยู่ ปัจจุบันมีความตระหนักมากขึ้นถึงอาการและอาการแสดงของโรคซน สมาธิสั้นที่ยังคงมีความผิดปกติต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และยังสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติด การดื่มสุรา รวมถึงมีความยากลำบากในการเข้าสังคมและการทำงานกับผู้อื่น การรักษาโดยการใช้ยากลุ่มstimulants และ non-stimulants ได้ผลในผู้ป่วยบางราย ในปัจจุบันมีการรักษาโดยวิธีการฝึกอบรมผู้ปกครอง (parent training) และการปรับแนวคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapies) ซึ่งเป็นการรักษาด้านจิตสังคม (psychosocial intervention) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายร่วมไปกับการรักษาทางเภสัชวิทยา

การวินิจฉัยโรคนี้ ควรได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทั้งครูและผู้ปกครอง ดูการทำงาน และพฤติกรรมของเด็กทั้งสถานการณ์ที่บ้านและโรงเรียน ควรใช้แบบประเมินพฤติกรรม (rating scales) ของโรคซน สมาธิสั้นที่ได้มาตรฐาน เพื่อประเมินความรุนแรงของพฤติกรรมเด็ก และใช้เพื่อดูผลการตอบสนองของเด็กหลังจากเริ่มรักษาโดยการใช้ยาแล้ว การประเมินเด็กที่ดีที่สุดคือการสัมภาษณ์โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรค ร่วมไปกับการประเมินพฤติกรรมเด็ก

ในครั้งแรกที่พบเด็ก แพทย์ควรสังเกตทั้งผู้ปกครองและเด็กในการประเมินอาการของโรคซน สมาธิสั้นและโรคที่อาจพบร่วมด้วย อาศัยประวัติครอบครัว การสังเกตพฤติกรรมและสมาธิของเด็กทั้งขณะที่อยู่ต่อหน้าผู้ปกครอง และเมื่ออยู่เพียงลำพัง

ในการประเมินครั้งต่อไป แพทย์ควรมีการติดต่อประสานกับครูของเด็ก เพื่อให้ได้รับข้อมูลจากสถานการณ์ที่โรงเรียน โดยผ่านทางรายงานของครู และแบบประเมินพฤติกรรมโดยครู (teacher rating scale) ร่วมไปกับการประเมินเด็กทางด้านจิตศึกษา (psycho- educational) การพูด (speech) และทดสอบด้านภาษา (language tests) อาจใช้แบบทดสอบ Wechsler Intelligence Scale for Children (WISC) สำหรับประเมินระดับเชาวน์ปัญญา ใช้ แบบทดสอบ Wide Range Achievement Test-Revised (WRAT-R) ในการประเมินระดับชั้นเรียนเด็ก และแบบทดสอบ Wechsler Individual Achievement Test (WIAT) เพื่อประเมินทักษะด้านการเรียน การทดสอบที่ใช้นี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการวินิจฉัยโรค แต่ใช้เพื่อการวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล มีการใช้ Child Behavior Checklist (CBCL) และ Childhood Psychopathology Measurement Schedule ( เป็น CBCL ที่ประยุกต์ใช้ในเด็กอินเดีย ) เพื่อคัดกรองเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม รวมทั้งเด็กที่มีสมาธิสั้น และแนะนำให้ใช้การทดสอบด้าน Task switching, attention network และ choice delay task เพื่อประเมินความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาของเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น

หลังจากนั้นแพทย์ควรรวบรวมข้อมูลที่ได้มา เพื่อใช้สนทนาร่วมกับผู้ปกครองของเด็กในการวางแผนการรักษาและติดตามเด็ก จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรักษาที่ดีที่สุดคือใช้ทั้งการรักษาโดยการใช้ยาร่วมไปกับพฤติกรรมบำบัด

การรักษาโรคซน สมาธิสั้นโดยการใช้ยานั้น จากการศึกษาพบว่ายาที่ใช้ในการรักษาจะออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง dopamine และ/หรือ norepinephrine receptor โดยได้ผลดีในด้านสมาธิ อาการซน ยุกยิก และความยับยั้งชั่งใจ รวมไปถึงพฤติกรรมทางสังคมและในชั้นเรียนด้วย

ยา stimulants เป็นยารักษาหลักของโรคซน สมาธิสั้น โดยทั่วไปก่อนการใช้ยาควรมีการตรวจร่างกาย ถามประวัติโรคที่เป็นอยู่เดิม เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการใช้ยา stimulants เด็กควรมีอายุมากกว่า 6 ปี และได้รับการกำกับการใช้ยาโดยผู้ใหญ่ ครูในโรงเรียนควรมีการดูแลกำกับการใช้ยาของเด็กในช่วงกลางวันที่ต้องรับประทานยา และมีแนวทางในการให้ยาแบบเริ่มให้ในระดับต่ำและค่อยๆเพิ่มอย่างช้าๆ

ยากลุ่ม stimulants ชนิดรับประทาน เช่น methylphenidate (MPH), dextroamphetamine (หรือชื่อการค้า Adderall ซึ่งกลุ่มยานี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย) ใช้เป็นยากลุ่มแรกในการรักษา โรคซน สมาธิสั้น มีกลไกการออกฤทธิ์เป็น presynaptic inhibition การ reuptake ของ catecholamines โดยการกระตุ้น inhibitory auto-receptors และมีการเปลี่ยนแปลง functional activity levels ของ catecholamines โดยกลไกการออกฤทธิ์นี้พบทั้งที่ dopamine transporter ( DAT ) และ norepinephrine transporter ( NAT )

ในบทความนี้ได้กล่าวถึงการเลือกใช้ยาในการรักษาโรคซน สมาธิสั้นว่าต้องพิจารณาระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของยาและวิธีการให้ยาที่เหมาะสมในเด็กแต่ละราย มีการกล่าวถึงยารูปแบบใหม่ๆที่มีการชะลอการออกฤทธิ์ของยา ( delayed delivery system ) คือ Diffucaps MPH system, spheroidal oral drug absorption system ( SODAS) for MPH, osmotically controlled- release oral delivery system (OROS) ยาอีกรูปแบบคือ transdermal MPH system ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ให้ใช้ได้ในเด็กอายุ 6-12 ปี มีข้อได้เปรียบในเรื่องการปรับขนาดของยา

สรุปผลของการใช้ยากลุ่ม stimulants จะช่วยทำให้อาการ ซน อยู่ไม่นิ่ง ความหุนหันพลันแล่น ขาดสมาธิ ผลการเรียน ความสำเร็จของงาน ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ความก้าวร้าว ปัญหาการเรียน ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมดีขึ้น นอกจากนี้ยายังมีประสิทธิภาพในการเพิ่มเชาวน์ปัญญา จากการกระตุ้นโดยอ้อมของ alpha 2 adrenoceptors และ D-1 dopamine receptors ใน prefrontal cortex

ในบทความกล่าวว่าแม้ยา stimulants จะได้รับการยอมรับว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคซน สมาธิสั้น แต่มีเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 30-50 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่สามารถทนต่อการรักษาโดยยานี้ได้ โดยผลข้างเคียงระยะสั้นทางกายที่พบได้บ่อย คือ นอนไม่หลับ มึนงง ง่วงนอนตอนกลางวัน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เบื่ออาหาร ผลข้างเคียงด้านกล้ามเนื้อที่พบได้คือ tics และด้านอารมณ์คือ อารมณ์ปรวนแปรง่าย ร้องไห้อย่างฉับพลัน เศร้า แยกตัวจากสังคมและก้าวร้าว นอกจากนั้น ยังมีความกังวลในเรื่องการชะลอการเจริญเติบโต และน้ำหนักที่ลดลงเมื่อใช้ยาในระยะยาว แต่จากการศึกษายังไม่ยืนยันในเรื่องนี้

ยากลุ่มต่อมาที่กล่าวถึงคือ Atomoxetine เป็นยากลุ่ม non-stimulants เพียงชนิดเดียวที่ FDA ยอมรับในการรักษาเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น ยานี้จะยับยั้ง presynaptic norepinephrine transporter ซึ่งเชื่อว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ norepinephrine และทำให้อาการ ของโรคซน สมาธิสั้นดีขึ้น อย่างไรก็ตามยานี้มีคำเตือนเรื่องความคิดฆ่าตัวตาย และการเกิดภยันตรายต่อตับอย่างรุนแรงที่พบได้น้อยมาก

บทความยังได้กล่าวถึงยาที่ใช้รักษาเพิ่มหรือเสริมกับยา non-stimulants (ตัวอื่นที่ไม่ใช่ atomxetine) โดยแนะนำให้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยา stimulants แล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา stimulants หรือรักษาโดยใช้ยา atomoxetine แล้วไม่ดีขึ้น โดยยาที่เป็น second-line คือ antidepressants เช่น bupropion, tricyclic antidepressants โดยเฉพาะยา desipramine และ imipramine หรือ venlafaxine ในบางรายงานพบประสิทธิภาพที่ดีของการใช้ยาในกลุ่มอื่นๆ เช่น nicotinic modulators, cholinesterase inhibitors, noradrenaline/ dopaminergic agonists และ alpha-2 adrenergic agonists เช่น clonidine และ guanfacine

ยากลุ่ม alpha-2 adrenergic agonists คือ guanfacine ช่วยรักษาโรคซน สมาธิสั้นได้ โดยมีผลต่อ norepinephrine discharge rates ใน locus ceruleus และการออกฤทธิ์นี้มีผลโดยอ้อมต่อ dopamine firing rates ในผู้ป่วยโรคซน สมาธิสั้นพบว่ามีการทำงานของ prefrontal cortex ที่ด้อยลง ซึ่งความบกพร่องของ prefrontal function นี้นำไปสู่พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น วอกแวกง่าย ซน อยู่ไม่นิ่ง ขี้ลืม และมีการวางแผน/การจัดระบบในการทำงานที่บกพร่อง นับเป็นความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาที่พบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ การออกฤทธิ์ของยาในด้านนี้จะผ่านทาง alpha adrenergic receptor ในสมอง

ในบทความได้กล่าวถึงยาอีกชนิดคือ Modafinil film-coated tablets ซึ่งเป็นการรักษาแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น ออกฤทธิ์กระตุ้น cortex อย่างเฉพาะเจาะจง โดยไม่มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางทั่วไป และไม่พบโอกาสการใช้ยานี้อย่างผิดวิธี แต่ FDA ถอนการยอมรับยานี้เนื่องจากกลัวการเกิด Stevens -Johnson syndrome

จากการศึกษาของ Preschool ADHD Treatment Study (PATS) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIMH (The National Institute of Mental Health) พบว่าเด็กอายุ 3-5 ปี ที่มีอาการของโรคซน สมาธิสั้นรุนแรงมีอาการลดลงอย่างมากหลังได้รับยา methylphenidate เช่นเดียวกับการศึกษาของ MTA study จำนวน 1,999 ผลงาน และการศึกษาอื่นๆ ในเด็กวัยเรียน พบว่ายามีผลให้อัตราการเจริญเติบโตในเด็กก่อนวัยเรียนลดลง เด็กประมาณร้อยละ11 หรือ 1 ใน 10 ออกจากการศึกษานี้เนื่องจากทนต่อผลข้างเคียงของยาไม่ได้ คือ มีน้ำหนักลดลง

การรักษาด้านจิตสังคม (Psychosocial Intervention) จากบทความกล่าวว่า แม้การรักษาโดยการใช้ยาจะช่วยทำให้พฤติกรรมของเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้นดีขึ้น แต่บางรายก็ไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาได้ และผู้ปกครองบางรายไม่ต้องการรักษาโดยการใช้ยา ดังนั้น พฤติกรรมบำบัดยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการรักษาโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งว่าเด็กทุกคนที่เป็น โรคนี้ควรได้รับการรักษาด้านจิตสังคมเพื่อปรับปรุงทักษะการสังเกตตนเองหรือการเผชิญปัญหา (self-observation or coping skills) รวมถึงการเพิ่มทักษะบางอย่างที่ขาดในโรคซน สมาธิสั้น

การศึกษาที่บอกถึงประสิทธิภาพของพฤติกรรมบำบัด (behavioral intervention) นั้นมีอยู่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของการใช้ยาในโรคซน สมาธิสั้น อย่างไรก็ตามพบว่าอาการหลักของโรคซน สมาธิสั้น ผลการเรียน ทักษะทางสังคม พฤติกรรมดื้อ ต่อต้านและก้าวร้าวนั้นดีขึ้นเมื่อมีการนำพฤติกรรมบำบัดมาใช้ เช่น การปรับสินไหมเพื่อให้เรียนรู้ผลของการกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (response cost) และการให้แรงเสริมทางบวก (positive reinforcements) แต่การดีขึ้นของพฤติกรรมเป็นไปในระยะสั้นๆเท่านั้น

การฝึกโปรแกรมพฤติกรรมบำบัดให้กับผู้ปกครอง (Parent behavior management training) เป็นการรักษาด้านจิตสังคมที่ใช้บ่อยที่สุดในเด็กวัยเรียน รวมถึงการนำไปใช้ในเด็กที่มีโรคร่วมเป็น oppositional defiant disorder หรือ conduct disorder พบว่าได้ผลดีต่อการจัดการพฤติกรรมและการรักษาในระยะยาว การฝึกโปรแกรมพฤติกรรมบำบัดให้กับผู้ปกครองเพื่อใช้จัดการปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งที่บ้านและในโรงเรียน ผู้ปกครองจะได้รับการสอนหลักในการให้แรงเสริมทางบวกและวิเคราะห์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กำหนดพฤติกรรมที่เป็นเป้าหมายในการแก้ไข ติดตามความถี่ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซึ่งต้องอาศัยการจัดการกับพฤติกรรมเป้าหมายและให้แรงเสริมอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากวิธีนี้อาศัยพ่อแม่ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กจึงเหมาะที่จะใช้กับเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน

การรักษาโดยการปรับแนวคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) เน้นเรื่องการแก้ไขปัญหา การคาดการณ์ล่วงหน้าและผลที่จะเกิดตามมาของการกระทำ เหมาะที่จะใช้กับเด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยต้องมีความสามารถในการตรวจสอบตนเอง (self monitoring) มีทักษะด้านภาษาและทักษะในการสังเกตตนเอง ( verbal and self observational skills)

การฝึกทักษะทางสังคม (social skill training) เป็นการรักษาโดยการปรับแนวคิดและพฤติกรรมวิธีหนึ่งที่มุ่งเน้นไปที่การฝึกทักษะทางสังคม แม้ว่าจะยังไม่พบประสิทธิภาพที่สามารถวัดได้อย่างชัดเจนในขณะนี้

ในวัยรุ่นการรักษาโดยเทคนิคการจัดการด้านพฤติกรรม ช่วยเหลือด้านการเรียน ครอบครัวบำบัดและการบูรณาการหรือประสานงานของการดูแลในด้านต่างๆ พบว่ามีประสิทธิภาพ การรักษาแบบเฉพาะรายบุคคล (Individual therapy) ได้ผลดีในคนที่มีโรคอื่นๆร่วมด้วย

ในบทความสรุปว่า การรักษาโรคซน สมาธิสั้นที่ใช้ทั้งการรักษาด้านจิตสังคมร่วมกับการใช้ยา โดยมีการวางแผนการรักษาแบบเฉพาะรายบุคคล จึงจะได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด และเน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครองของเด็กที่เป็นโรคนี้เกี่ยวกับโรค วิธีการรักษาโรค การรักษาที่เหมาะสมกับบุตร และความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคนี้ ทั้งนี้อาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่มผู้ปกครองด้วยกันเอง หรือผ่านข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต มีการติดตามการรักษาที่เหมาะสม และการสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้การรักษามีความต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จในการรักษา

การฝึกโปรแกรมพฤติกรรมบำบัดให้กับผู้ปกครองได้รับการวิจัยในรายละเอียดมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายในการฝึกผู้ปกครองในเรื่องการให้แรงเสริมและการลงโทษตามหลังพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม รูปแบบการฝึกโปรแกรมพฤติกรรมบำบัดให้กับผู้ปกครองที่พัฒนาโดย Barkley ในปี ค.ศ.1997 ประสบความสำเร็จในการรักษา โดยพบว่าร้อยละ 64 ของเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น มีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมก่อกวน (disruptive behavior)

ในบทความได้กล่าวถึงการศึกษาที่สำคัญของ MTA (The Multimodal Treatment Study of ADHD) ที่พบว่าการรักษาที่ประกอบไปด้วยพฤติกรรมบำบัดและการใช้ยาได้ผลดีในการรักษาเด็กที่เป็นโรคซน สมาธิสั้น

ผลการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์ (pharmacogenetic) เบื้องต้น ในปี ค.ศ. 2007 Polanczyk และคณะ ได้ค้นพบความสัมพันธ์ของการมี G allele กับการรักษาโรคซน สมาธิสั้นโดยการใช้ยา methylphenidate ที่ได้ผลดีอย่างมีนัยสำคัญ จากการเปรียบเทียบคะแนนของการขาดสมาธิ (inattentive scores) ในช่วง 3 เดือนของการรักษา ส่วนการศึกษาของ Kim ในปี ค.ศ.2010 พบว่าบุคคลที่มีแม้เพียง T allele เดียว เช่น A/T หรือ T/T genotypes ที่ -3081(A/T) polymorphism จะมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา methylphenidate ดีกว่ากลุ่มที่เป็น A/A genotype

ในด้านการรักษาทางเลือก (Alternative therapy) สรุปว่ายังไม่มีหลักฐานใดๆที่สนับสนุนการรักษาในโรคซน สมาธิสั้น ไม่ว่าจะเป็น electroencephalography, biofeedback training, การให้วิตะมินใน ขนาดสูง การรักษาโดยใช้สมุนไพร การจัดท่าของร่างกายและกระดูก (body and craniosacral manipulation) การกระตุ้นประสาทสัมผัส (sensory integrative training) และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

มีคำแนะนำให้ใช้รูปแบบการรักษาแบบบูรณาการในการรักษาโรคซน สมาธิสั้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันของแพทย์ ผู้ปกครอง และเด็ก ซึ่งมักจะใช้ในการดูแลโรคแบบเรื้อรัง ควรสร้างความร่วมมือในการรักษากับทั้งผู้ป่วยและผู้ปกครอง โรคซน สมาธิสั้นต้องมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ต้องมีการใช้การรักษาทางจิตสังคมที่มีหลักฐานว่าได้ผลและเหมาะสมร่วมกับการรักษาโดยการใช้ยา โดยสามารถนำแนวทางการดูแลรักษาของThe Texas Children’s Medication Algorithm Project และ The Global ADHD Working Group มาพิจารณาเลือกใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยโรคซน สมาธิสั้นได้

บทความได้สรุปว่าโรคซน สมาธิสั้น เป็นภาวะที่มีความหลากหลาย การใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโดยดูพัฒนาการสำคัญที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างถูกต้องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การใช้ยา stimulants ที่ออกฤทธิ์ยาว (extended release) ยาที่ชะลอการออกฤทธิ์ ( delayed release ) ยารูปแบบ transdermal รวมไปถึงยาชนิด non- stimulants ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาโดยการใช้ยา

การที่มียาหลายชนิดให้เลือกในการรักษาจะช่วยให้แพทย์เลือกยาที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด และปลอดภัยที่สุดให้แก่ผู้ป่วยโรคซน สมาธิสั้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาร่วมไปกับการลดความบกพร่องที่อาจพบในโรคนี้ การรักษาโรคซน สมาธิสั้น ควรเป็นแบบหลายวิธีร่วมกัน ผลการรักษาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดได้มาจากการปรับยาที่เหมาะสม ร่วมไปกับการรักษาด้านจิตสังคม ความร่วมมือในการรักษาที่ยาวนานจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของพวกเขา

เอกสารอ้างอิง
- Verma R, Balhara YP, Mathur S. Management of attention-deficit hyperactivity disorder. J Pediatr Neurosciences 2011; 6 : 13-18.